วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การทอดกฐิน



กฐิน  เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่าการทอดกฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด1 ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ซึ่งนอกจากในพระวินัยฝ่ายเถรวาทแล้ว กฐินยังมีในฝ่ายมหายานบางนิกายอีกด้วย แต่จะมีข้อกำหนดแตกต่างจากพระวินัยเถรวาท

การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และด้วยการที่การถวายผ้ากฐินนั้น จัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทาน ที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คณะสงฆ์วัดหนึ่ง ๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย






ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุุุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน


แหล่งที่มา:  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B4%E0%B8%99






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น